welcome to my blog ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกค้ะ

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อันตรายของอาหารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในอาหาร ส่งผลให้มีผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเพราะบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ แบคทีเรีย หรือสารเคมีอื่นๆที่ไม่สมควรมีเจือปนอยู่ในอาหาร เช่น

· ประเทศจีน เมื่อปลายปี 2008 พบการปนเปื้อนของสารเมลามีนในนมผงสำหรับเด็ก ส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิตจำนวน 6 คนและเจ็บป่วยอีกราว 300,000 คน ซึ่งเป็นข่าวที่ทำให้ทั่วโลกเกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศจีนเพราะเชื่อว่ามีมาตรฐานต่ำ

· ประเทศสหรัฐฯ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการตรวจพบเชื้อ Salmonella ในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว (Peanut butter) เป็นต้นเหตุให้มีผู้ป่วยถึง 691 คนและเสียชีวิต 9 คน ทำให้ผู้ขายต้องเรียกสินค้าคืนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกัน คือ การตรวจพบเชื้อ Salmonella ในถั่ว pistachio ทำให้ต้องเรียกคืนสินค้าเช่นกัน และหากย้อนไปในปี 2006 ก็มีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย E. Coli ในผักขม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 คนและเกิดความสูญเสียราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

จากสถิติ WHO พบว่ามีประชากรเกือบ 30% ในแต่ละปีที่เป็นโรคที่เกิดจากอาหาร (food-borne disease) สำหรับสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่กลับพบว่าในแต่ละปีมีชาวอเมริกันประมาณ 1 ใน 4 ที่เป็นโรคที่เกิดจากอาหารซึ่งสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ สถิติการระบาดของโรคที่เกิดจากอาหารในสหรัฐฯเนื่องจากการปนเปื้อนในอาหารพบว่าเพิ่มขึ้นจาก 100 ครั้ง/ปี ในช่วงปีค.ศ. 1990-99 เป็น 350 ครั้ง/ปีในปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเหตุการณ์ความเสี่ยงในอาหารจึงเพิ่มขึ้น

- สาเหตุการระบาดของโรคที่เกิดจากอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจาก

1. ความเป็นอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น (Industrialisation) การผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรมอย่างไม่หยุดยั้งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแพร่กระจายของโรคเพิ่มขึ้น เช่น เหตุการณ์แพร่ระบาดของโรควัวบ้า (BSE) ในยุโรป ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากผู้ผลิตเนื้อพยายามลดต้นทุนและเพิ่มปริมาณผลผลิต โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์นั้นมาจากสัตว์ที่ตายเพราะเป็นโรคหรือไม่[1] ส่งผลทำให้มีผู้ป่วยด้วยอาการสมองฝ่อจากการบริโภคเนื้อวัวที่ติดเชื้อโรควัวบ้า

2. การดูแลควบคุมที่ไม่ดีพอ (Poor Regulation) ทำให้การตรวจสอบการปนเปื้อนในอาหารไม่ทั่วถึงหรือมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ เช่น U.S. Department of Health and Human Services ตรวจสอบอาหาร 40 รายการ แต่มีเพียง 5 รายการเท่านั้นที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ทุกขั้นตอนในห่วงโซ่อาหาร (food chain)

3. สภาพโลกาภิวัฒน์ของห่วงโซ่อาหาร (Globalisation of food chain) ปัจจุบันอาหารที่ผลิตในประเทศหนึ่ง อาจถูกส่งไปแปรรูปและบริโภคในประเทศอื่นๆต่อไป[2] ซึ่งหมายความว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยในอาหาร ผู้บริโภคในส่วนอื่นๆของโลกก็จะรับรู้และมีผลกระทบร่วมด้วย นอกจากนี้ การใช้วัตถุดิบจากหลายแหล่งทั่วโลกทำให้การจัดการ food supply chain มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะมาตรฐานของผู้ขาย (supplier) ในแต่ละประเทศแตกต่างกันไป วัตถุดิบผลิตยิ่งมาจากหลายแหล่ง ยิ่งทำให้การควบคุมทำได้ยากขึ้น

4. การเมือง (Political) ที่ผ่านมารัฐบาลหลายประเทศไม่อยากกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยกับโรงงานผลิตอาหารมากเกินไป เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้การค้าหยุดชะงักและทำให้ต้นทุนสูงขึ้น จึงทำให้ยังคงพบปัญหาทางด้านความปลอดภัยในอาหาร

- การเปลี่ยนแปลงภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ บริษัทผู้ผลิตอาหาร หน่วยงานควบคุมตรวจสอบและผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป คือ รู้สึกตื่นกลัวและระมัดระวังเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้มีภาคธุคกิจหันมาการปรับปรุงและเพิ่มระบบตรวจสอบให้ดียิ่งขึ้น[3] รวมทั้งให้ความไว้วางใจ supplier น้อยลงแต่หันมาใช้การตรวจสอบเพิ่มขึ้นแทน

1. ภาครัฐ ตระหนักถึงความอ่อนแอของห่วงโซ่อาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดของโรคในอาหารได้อย่างฉับพลันและแพร่ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการปนเปื้อนในอาหารโดยเจตนา เช่น การก่อการร้ายทางชีวภาพ (bio-terrorism) เป็นต้น

2. บริษัทผู้ผลิตอาหาร ภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทมองเห็นจุดอ่อนในการปล่อยให้ third-party เป็นผู้ควบคุมตรวจสอบความปลอดภัยในอาหาร ดังนั้น บริษัทหลายแห่งที่เป็นผู้ผลิตอาหารระดับโลกจึงหันมาใช้หน่วยงานภายในแทนและปรับปรุงระบบตรวจสอบให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ส่วนบางบริษัทเปลี่ยนมาใช้ระบบควบคุมคุณภาพใหม่ (quality control system) ทำให้จัดการปัญหารวดเร็วมากขึ้นและเป็นระดับนานาชาติ (global basis)[4] นอกจากนี้ การจัดหา supplier จะต้องผ่านการตรวจสอบมากขึ้นหรือมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยญชาญด้านคุณภาพเข้าไปเพื่อควบคุม supplier โดยตรง

- ข้อสรุป มาตรฐานความปลอดภัยในอาหารจะดีขึ้นได้จะต้องอาศัยแรงกดดันจากฝ่ายผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้บริษัทผู้ผลิตและรัฐบาลหันกลับมาพิจารณาระบบตรวจสอบควบคุมใหม่ให้เข้มงวดและเอาจริงเอาจังมากขึ้น ดังเช่น ภายหลังเหตุการณ์การปนเปื้อนสารเมลามีนในนมผงของประเทศจีน ทำให้ผู้บริโภคเรียกร้องให้ผู้ผลิตปรับปรุงมาตราฐานด้านคุณภาพให้ดีขึ้น ส่วนสื่อก็กล้าเปิดเผยในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ส่งผลให้รัฐบาลจีนต้องส่งทีมเข้าตรวจสอบสารเมลามีนในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นมทั้งหมดทั่วประเทศจีน และส่งเจ้าหน้าที่ประจำโรงงานเพื่อตรวจเช็คอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลาหลายสัปดาห์

สำหรับบริษัทผลิตอาหารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง แม้จะไม่ได้เป็นต้นเหตุของการระบาดโรคที่เกิดจากอาหารแต่ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเพิ่มมากขึ้นและพยายามรักษามาตรฐานที่ดีที่สุดของบริษัทเอาไว้ รวมทั้งพยายามหาทางแสดงให้ผู้บริโภคเห็นหลักฐานในการตรวจสอบคุณภาพที่ชัดเจน

ในเรื่องนี้ สำนักงานฯ ขอเรียนข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้

ก) มาตรฐานความปลอดภัยในอาหารสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ด้วยการเพิ่มระบบการตรวจสอบควบคุมให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยในอาหารที่เกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯและจีน เนื่องจากการควบคุมที่ไม่ดีเพียงพอ จึงทำให้มีโรงงานที่ผลิตอาหารไม่ปลอดภัยแต่นำออกมาวางขายในท้องตลาดได้ ส่งผลให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องหันมาพิจารณาระบบควบคุมความปลอดภัยในอาหารใหม่และเพิ่มการตรวจสอบให้มากขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้เงินทุนเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอกับจำนวนโรงงานผลิตหรือแปรรูปอาหารที่ต้องเข้าทำการตรวจสอบได้[5]

ข) สภาพความเป็นโลกาภิวัฒน์ (globalisation) ของห่วงโซ่อาหารและการแข่งขันทางภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ทำให้ในกระบวนการผลิตอาหารจะต้องเสาะหาแหล่งผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ในประเทศที่มีราคาวัตถุดิบถูกหรือต้นทุนการผลิตต่ำ ส่วนสินค้าอาหารที่ผลิตได้ก็ถูกจัดจำหน่ายไปหลายประเทศ ดังนั้น เมื่อมีอันตรายในอาหารเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบไม่เพียงสินค้านั้นเพียงอย่างเดียวหรือในประเทศเดียว แต่ผู้บริโภคจะขาดความเชื่อมั่นกับสินค้าที่เกี่ยวข้องด้วยโดยรวม ฉะนั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารจึงต้องเร่งเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งด้วยการเพิ่มระบบควบคุมคุณภาพและหาทางประกาศให้ผู้บริโภครับรู้ถึงมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งต้องระมัดระวังในเลือก supplier เพิ่มมากขึ้น

ค) ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงในปีนี้อาจส่งผลให้ผู้บริโภคมองหาทางเลือกใหม่ของการซื้อสินค้าด้วยการจับจ่ายสินค้าที่มีราคาถูกลง ส่วนผู้ขายปลีกก็พยายามแข่งขันกันลดราคา ในขณะที่ผู้ผลิตก็ต้องหาทางลดต้นทุนการผลิต ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องยิ่งสอดส่องดูแลเพิ่มขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าการแข่งขันทางด้านราคาจะไม่ทำให้มาตรฐานด้านความปลอดภัยลดลง

ง) แนวโน้มที่ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในอาหารเพิ่มขึ้น อาจเป็นโอกาสที่ดีในการขยายช่องทางการตลาดของอาหารและสินค้าเกษตรใหม่ๆ เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผู้บริโภครับรู้ว่าเป็นสินค้าที่ปลอดภัยจากการใช้สารเคมีและดีต่อสิ่งแวดล้อม หรือ สินค้าเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งจะช่วยให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (traceability) หากมีปัญหาเกิดขึ้นก็จะสามารถตรวจสอบหาต้นเหตุและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในอาหารกับผู้บริโภค เป็นต้น

จ) ปัจจุบันอาหารและสินค้าเกษตรของไทย (โดยเฉพาะผักสด) ที่ส่งเข้ามาจำหน่ายใน EU ยังถูกตรวจพบว่ามีปัญหาจากเชื้อ Salmonella, สารตกค้างประเภทต่างๆ หรือสิ่งเจือปนในอาหาร เป็นจำนวนหลายรายการทุกเดือน ซึ่งอาจทำให้ผู้นำเข้าและผู้บริโภคใน EU ขาดความเชื่อมั่นกับภาพลักษณ์ของอาหารและสินค้าเกษตรไทยโดยรวม ดังนั้น จึงต้องเร่งปรับปรุงระบบการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าที่ส่งออกให้เข้มงวดมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ควรส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงการผลิตให้มีมาตรฐานด้านคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น และหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยการผลิตสินค้ามีความปลอดภัยที่สามารถพิสูจน์ได้หรือผ่านการรับรองจากหน่วยงานระดับนานาชาติ



[1] ในประเทศอังกฤษเมื่อปี 1986 พบวัวเสียชีวิตจากโรควัวบ้า (BSE) จำนวน 168,000 ตัว เนื่องจากได้รับเนื้อและกระดูกป่นจากแพะที่ตายจากโรค scrapie-containing sheep ที่มีสาร prion ซึ่งเป็นโปรตีนตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดโรควัวบ้า

[2] บริษัทผลิตอาหารข้ามชาติขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ บางครั้งมีส่วนประกอบในอาหารราว 60% ที่มาจากหลายแหล่งทั่วโลก

[3] ปัจจุบันบริษัทที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นมทุกแห่งในจีนจะตรวจสอบหาสารเมลามีนที่อาจปนเปื้อนมาในผลิตภัณฑ์นม ในขณะที่อดีตไม่มีการตรวจสอบสารดังกล่าว

[4] เช่น หากมีเหตุการณ์ใดๆที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภันในอาหารเกิดขึ้นจะต้องรายงานให้ chief supply officer ทราบภายใน 24 ชั่วโมง ในขณะที่ในอดีตจะมีการจัดการกับปัญหาเฉพาะในระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาคเท่านั้น

[5] หน่วยงาน FDA ทำหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยในสินค้าอาหารและยาในประเทศสหรัฐฯ แต่ระหว่างปี 2006-2008 มีจำนวนเจ้าหน้าที่ลดลงราว 20% ทำให้มีกำลังไม่เพียงพอในการเข้าตรวจสอบหรือทำได้เพียง 5% จากจำนวนผู้ผลิตและแปรรูปทั้งหมด โดยเฉพาะอาหารนำเข้าซึ่งผ่านการตรวจสอบน้อยมากหรือเพียง 1% จากทั้งหมด ดังนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโอบามา จึงประกาศว่าจะปรับปรุงหน่วยงาน FDA เสียใหม่และให้เงินสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในความปลอดภัยของอาหารประเทศสหรัฐฯกลับคืนมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น