"บรั่นดี (brandy)" นั้น มาจากคำว่า "brandewijn" ซึ่งเป็นภาษาดัตช์ (Dutch)แปลว่า "burnt wine" ซึ่งหมายถึงการให้ความร้อนแก่เหล้าองุ่นเพื่อกลั่น ดังนั้นบรั่นดีจึงเป็นสุราชนิดแรงที่กลั่นจากเหล้าองุ่น แต่ถ้าเป็นชนิดที่กลั่นจากน้ำผลไม้อื่นๆหลังจากการหมักแล้วก็เรียกว่า บรั่นดีผลไม้ (fruit brandy) เช่น apple brandyทำจากแอปเปิ้ล peach brandy ทำจากพีช เป็นต้น
คุณภาพของบรั่นดีขึ้นอยู่กับ คุณภาพของเหล้าองุ่นที่นำมากลั่น, กรรมวิธีที่ใช้ในการกลั่น, และที่สำคัญที่สุดก็คือการเลือกชนิดไม้ที่ใช้ทำถังเพื่อเก็บบ่มบรั่นดีหลัง จากกลั่นแล้ว ซึ่งการเก็บบ่มสุราไว้ในถังไม้ที่เหมาะสมเป็นเวลานานปี จะเป็นการทำลายสารพิษต่างๆ เช่น fusel oils ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างกรรมวิธีการผลิตและเจือปนอยู่ในสุราให้หมดไปอีกด้วย
บรั่นดีที่นิยมกันว่าเป็นชนิดที่ดีที่สุด คือ บรั่นดีที่ผลิตจากเมืองคอนยัก(Cognac) และเมืองอาร์มายัก (Armagnac) ประเทศฝรั่งเศส และเรียกชื่อบรั่นดีนี้ตามชื่อเมือง บรั่นดีทั้ง 2 ชนิดนี้ผู้ผลิตจะเก็บบ่มไว้ในถังไม้โอ๊กเป็นเวลาหลายๆ ปี ส่งผลให้สารแทนนินส์ (tannins) ที่มีอยู่ในเนื้อไม้ ละลายลงไปในบรั่นดีทำให้มีสีเหลืองอำพัน และทำให้มีกลิ่นหอม สำหรับบรั่นดีที่มีคุณภาพต่ำนั้น ผู้ผลิตจะเติมสารคาโรเมล (caromel) ลงไปเพื่อทำให้บรั่นดีมีสีเหลือง และเติมวานิลลา (vanilla) ลงไปเพื่อปรุงกลิ่นสำหรับบรั่นดีที่เก็บบ่มไว้ในถังไม้โอ๊ก ซึ่งฉาบผิวด้วยขี้ผึ้งพาราฟิน (paraffin) หรือเก็บบ่มไว้ในภาชนะดินเผาจะมีลักษณะใสไม่มีสี
บรั่นดีและสุราชนิดอื่นๆ เมื่อบรรจุขวดแล้วไม่ว่าจะเก็บไว้นานสักเท่าใด ก็ไม่มีผลทำให้คุณภาพดีขึ้นไปกว่าก่อนบรรจุขวด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น